รู้ทัน ความรัก



ชื่อหนังสือ  รู้ทัน ความรัก

ผู้เขียน  ศ.ดร.นายแพทย์ วิทยา  นาควัชระ
สำนักพิมพ์  บริษัท  อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง  จำกัด (มหาชน)
พิมพ์ครั้งที่  2   ปีที่พิมพ์  2549

  ความรัก  คืออะไร

       ความรัก  เป็นอารมณ์  ความรู้สึก  และทัศนคติที่ดีๆ ที่เกิดกับคนที่เรารัก  โดยปรารถนาให้เขามีความเบิกบาน  สดชื่น  แจ่มใส  สร้างสรรค์  และตัวเองก็เกิดความเบิกบาน  สดชื่น  แจ่มใส  และสร้างสรรค์ไปด้วย  เพราะความรักเป็นอารมณ์และทัศนคตินี่เอง  จึงมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  อาจรักมากขึ้น  น้อยลง  หรือหมดไปเลยก็ได้  ดังนั้น ความรักจะเกิดขึ้น  หรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของมันเอง  ตอนเกิดความรักนั้นไม่ได้ใช้ความคิดเลย  และมักไม่มีเหตุผลด้วย  จะดีหรือไม่ดีก็จะรัก  เพราะความรักไม่ใช่ความคิด  แต่ถ้าใช้ความคิดเพื่อจะรักใครสักคน  ความรักจะกลายเป็นเหตุเป็นผล  ซึ่งมักจะเป็นความรักในช่วงหลังๆ ที่ไม่ค่อยวูบวาบนัก  เช่น  รักเพราะเขาเป็นคนดี  เพราะเชื่อถือได้  จึงรักเขาต่อไป  

ลักษณะของความรัก

       1.เป็นความรู้สึกที่เบิกบาน  สดชื่น  แจ่มใส  และสร้างสรรค์  ที่ได้อยู่กับคนรัก  และปรารถนาจะให้คนที่รักมีอารมณ์และรู้สึกเช่นเดียวกัน
       2.ความรักไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  แต่ได้รับอิทธิพลจากความรักครั้งแรกหรือความรักพื้นฐาน (Basic Love) ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ถ้าลูกคนใดได้รับการแสดงความรักที่เหมาะสมจากแม่  ก็จะรู้สึกรักแม่  ถือได้ว่าเกิดความรักพื้นฐาน  ต่อจากนั้นจะสามารถ "แสดง" ความรัก  และ "รู้สึก" รักคนอื่นได้ต่อไป  เช่นกับ  พ่อ  ครู  อาจารย์  เพื่อน ฯลฯ  แม่จึงเป็นต้นตอความรักในตัวมนุษย์
       3.ความรักไม่ได้เกิดกับทุกคน  ทำให้เกิดได้ยาก  หลายคนไม่มีความรักเลยจนตาย  แม้จะพร่ำพูดคำว่ารักมากมาย  คนร่ำรวยที่ทุกข์ทรมานมาก  เพราะไม่รักใคร  ไม่เชื่อใคร  จะว้าเหว่  แม้จะมีคนห้อมล้อมหรือรักเขามาก  เพราะเขาไม่รักใคร  ให้ความรักใครไม่ได้  และคิดว่าไม่มีใครรักเขาจริง
       4.ในช่วงมีความรักจะมีการหลั่งของสารของความสุข (Endophine) ทำให้แช่มชื่น  ไม่เหนื่อย  อดทน  ยอมรับ  และสร้างสรรค์  มีกำลังใจมากกว่าปกติ
       5.อยากเห็นคนที่รักมีความสุข  แม้จะไม่ได้สุขกับตนหรืออยู่กับตนก็ตาม  เช่น  แม่จะยินดีให้ลูกมีความสุข  แยกย้ายออกไป หรืออยู่ห่างไกลกัน  ก็จะยินดีด้วย
       6.เกิดความคิดสร้างสรรค์  ในช่วงมีความรัก  จินตนาการจะกว้างไกล  เป็นความใจกว้าง  เป็นความเอื้ออาทรต่อคนรัก  มีอารมณ์ดี  ทำให้คนสามารถคิด  ประดิษฐ์  หรือสร้างสรรค์สอ่งดีๆ  ชิ้นเยี่ยมของโลกได้
       7.ความรักไม่เป็นเจ้าของคนรัก  ไม่ครอบครองคนรัก  อยากให้อิสระ  อยากให้เขามีความสุข  ถ้าอยากเป็นเจ้าของคนรัก  แสดงว่าเริ่มเกิดโรคของความรักแล้ว
       8.ยอมให้เกียรติให้คนที่รักมีอำนาจเหนือตน  จึงทำให้อ่อนโยน  เอื้ออาทรต่อคนรัก  ไม่ยกตนข่มคนรัก
       9.ใช้เป็นแรงจูงใจที่สร้างสรรค์ต่อสังคมได้เสมอ  ไม่มีการทำลาย  มีแต่เอื้ออาทรและให้เสมอ

องค์ประกอบของความรัก

       1.ความเข้าใจ  ถ้ารักมนุษย์ก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ไม่เหมือนกัน  ไม่เท่ากัน  และทุกคนมีข้อบกพร่อง
       2.การยอมรับ  ต้องยอมรับเขาได้ทั้งข้อดีและข้อบกพร่อง  โดยคิดว่าถ้าใครบกพร่องมาก  ก็จะทุกร้อนจากข้อบกพร่องของเขา  เราช่วยไม่ได้
       3.ความใส่ใจ  เห็นอกเห็นใจ  เพราะรู้ว่าเขาทุกข์จากข้อบกพร่องของเขาอยู่แล้ว  จึงเห็นใจ  ไม่โกรธแม้มองเห็นข้อบกพร่อง
       4.การช่วยเหลือ  อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์
       5.การให้อภัย  จะอภัยข้อบกพร่องของเขาได้  เพราะเข้าใจและยอมรับว่าทุกคนมีข้อบกพร่อง  ใครบกพร่องมากก็ต้องทุกข์ร้อนอยู่แล้ว  ตามกฎแห่งกรรม  หรือกฎหมาย  กฎสังคม

ชนิดของความรัก

       ในเชิงจิตวิเคราะห์แบ่งความรักเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
       ก) Romantic  Love  เป็นความรักแบบเบาหวิว  เกิดง่าย  ดับง่าย  เกิดใหม่ได้  พบบ่อยๆ ในวัยรุ่น  เรียกว่าปิ๊งแรกพบนั่นแหละ  มีอิทธิพลของแรงขับทางเพศและฮอร์โมนทางเพศร่วมด้วย  หนุ่มสาวชอบความรักแบบนี้  เพราะแลดูตื่นเต้น  รู้สึกเป็นสุข
       ข) Anaclitic  Love  เป็นความรักแบบพึ่งพากันได้  หนักแน่นกว่า  อยู่นานกว่า  แต่ไม่หวือหวาเท่าแบบแรก
       และถ้าแบ่งตามดีกรีความสูงต่ำของความรักก็จะแบ่งเป็น
       1.ราคะหรือเซ็กซ์ (Lust  หรือ  Sex)  เป็นความรักขั้นต่ำสุด  ต้องการเพียงแค่ร่วมเพศ  ต้องการตื่นเต้นเร้าใจ  ไม่อยากผูกพัน  เมื่อมีเซ็กซ์แล้วอาจจะรู้สึกรังเกียจหรือเบื่อหน่ายไปเลย
       2.รักแบบผูกพัน (Eros)  เป็นความรู้สึกที่สูงขึ้นมา  เป็นความรักที่อยากอยู่กันนานๆ รับผิดชอบร่วมกัน  ทำให้อยากแต่งงาน  เป็นคู่ครอง  ใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป  มีความผูกพันลึกซึ้งมากกว่าชนิดแรก
       3.รักแบบปรารถนาดี (Brotherhood  Love  หรือ  Well  Wish)  เป็นความรักที่สูงขึ้นไปอีก  เห็นเขาได้ดีก็ยินดีด้วย  เห็นเขาทุกข์ก็อยากช่วยเหลือ  เป็นความรักที่สูงกว่าสองชนิดแรก
       4.รักแบบเสียสละ (Devoted  Love)  เป็นความรักที่สูงขึ้นไปอีก  เป็นความรักแบบเสียสละ  ขอให้คนรักสบายหรือมีชีวิตอยู่  ตนเองยอมเสียสละได้แม้จะทุกข์หรือเสียชีวิตก็ยอม  ซึ่งหาได้ยาก

สรุปใจความสำคัญ
       ความรักเป็นสิ่งดีงาม  สร้างสรรค์  เป็นความมั่นใจ  และกำลังใจ  แต่คนที่มีความรักจำนวนมากเกิดความทุกข์  เพราะรู้ไม่ทันความรัก เข้าใจผิด  หรือคาดหวัง  จากคนรักและความรักมากไป  กลายเป็นรักไม่เป็น  เกิดเป็นโรคของความรักจึงเป็นทุกข์  ความทุกข์จากความรัก  มักเกิดควาทุกข์  มักเกิดจากความคิดหรือการกระทำที่ทำร้ายตัวเอง  ซึ่งเจ็บปวดมากกว่าคนอื่นทำร้ายมากมายนัก

การนำไปใช้
       รู้จักวิธีรักกันให้เป็น  เข้าใจธรรมชาติของความรัก  เพื่อไม่ให้ทุกข์มาก  นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง  วิธีดูแลความรักให้งดงาม  หรือจัดการกับความรักที่เริ่มเป็นพิษ  แม้เมื่อยามต้องจากกันจะได้ไม่เป็นทุกข์

6 ความคิดเห็น: